Rolex Sea-Dweller
พลเมืองแห่งทะเลลึกRolex ได้รังสรรค์นาฬิการุ่น Oyster Perpetual Sea-Dweller ในปี 1967 เพื่อรับมือกับความท้าทายของภารกิจใต้น้ำที่ต้องใช้เวลาปฏิบัติการต่อเนื่องยาวนานโดย Sea-Dweller ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการดำน้ำแบบอิ่มตัว มาพร้อมวาล์วคายฮีเลียมที่ช่วยให้นาฬิการุ่นนี้สามารถทนต่อแรงอัดขณะดำขึ้นและกลับคืนสู่ผิวน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสำรวจใต้ทะเลลึก
Sea-Dweller ได้ผสานรวมทุกคุณสมบัติที่สำคัญของนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำสมัยใหม่เอาไว้อย่างครบครัน โดยรับประกันประสิทธิภาพการกันน้ำที่ระดับความลึก 610 เมตร (2,000 ฟุต) เมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1967 และได้พัฒนาต่อยอดจนสามารถกันน้ำได้ลึกถึง 1,220 เมตร (4,000 ฟุต) ในปี 1978
นาฬิกา Sea-Dweller ผ่านการทดสอบในสถานการณ์จริงด้วยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ Tektite ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา กองทัพเรือนสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 1969 โดยถูกนำไปใช้ในระหว่างการทดลองครั้งสำคัญซึ่งถือเป็นภารกิจแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ
มิติใหม่แห่งการดำน้ำ
คำว่า การดำน้ำ “แบบอิ่มตัว” เริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นเทคนิคการดำน้ำที่ช่วยให้นักดำน้ำสามารถคงอยู่ใต้น้ำในระดับความลึกมากได้เป็นเวลานาน โดยนักดำน้ำแบบอิ่มตัวจะต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำในห้องปรับความดันที่มีแรงกดอากาศเทียบเท่ากับสภาพแวดล้อมของการทำงานใต้น้ำ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะเข้าสู่กระบวนการคลายแรงดันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในตอนท้ายของภารกิจ
กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้นาฬิกาเกิดความเสียหายได้ กล่าวคือ ลมหายใจของเหล่านักดำน้ำจะเต็มไปด้วยก๊าซต่างๆ ที่ประกอบด้วยฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอะตอมที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถซึมผ่านเข้าสู่ตัวเรือนนาฬิกาได้ เมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ฮีเลียมที่ติดอยู่ด้านในตัวเรือนจะทำปฏิกิริยาที่เพิ่มแรงดันภายในนาฬิกาให้มีมากเกินจำเป็น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำเกิดความเสียหาย
ควบคุมแรงดันด้วยวาล์วคายฮีเลียม
เพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าว ในปี 1967 Rolex จึงได้เปิดตัว Sea-Dweller นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำที่มาพร้อมวาล์วคายฮีเลียม โดยตัววาล์วจุถูกยึดติดกับตัวเรือนด้วยสกรูและยังประกอบด้วยท่อสุญญากาศ ลูกสูบ ปะเก็น และสปริง ซึ่งทำหน้าที่เป็นวาล์วนิรภัย กล่าวคือเมื่อแรงดันภายในตัวเรือนสูงเกินไป วาล์วนิรภัยจะเปิดออกโดยอัตโนมัติเพื่อให้นาฬิกาคายอะตอมของฮีเลียมออกมา
อ่านเวลาได้อย่างไร้ที่ติ
หน้าปัดโครมาไลท์ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ Rolex ทำให้ Sea-Dweller สามารถอ่านเวลาได้อย่างชัดเจนในทุกสถานการณ์ เครื่องหมายบอกชั่วโมง เข็มนาฬิกา แคปซูล และขอบตัวเรือนได้รับการเติมหรือเคลือบด้วยสารเรืองแสงที่จะเปล่งแสงสีน้ำเงินเข้มในความมืด ซึ่งสามารถคงอยู่ได้ยาวนานกว่าสารเรืองแสงแบบเดิมถึงสองเท่า
เพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำ
Sea-Dweller มาพร้อมกับเม็ดมะยมไขลาน Triplock โดยเม็ดมะยมที่ถูกยึดไว้ด้วยสกรูนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1970 และประกอบด้วยส่วนกันน้ำทั้งหมดสามส่วน ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพการกันน้ำให้กับตัวเรือน Oyster ขนาด 43 มม. ของ Sea-Dweller ที่มีตัวเรือนตรงกลางถูกสร้างขึ้นจากแท่ง Oystersteel ซึ่งเป็นอัลลอยที่ทนทานต่อการกัดกร่อนอย่างมาก
นาฬิกาเพื่อพลเมืองแห่งท้องทะเล
นักสำรวจและนักสมุทรศาสตร์อย่าง Sylvia Earle และช่างภาพใต้น้ำ เช่น David Doubilet ต่างมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ผืนทะเล เพราะทราบดีว่าทะเลคือทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของเรา พวกเขาเลือกสวมใส่ Sea-Dweller เพื่อสะท้อนถึงความมาดมั่นและความตั้งใจอันเปี่ยมล้นที่มีต่อท้องทะเล
ทั้งนี้ Rolex ยังเป็นพันธมิตรร่วมกับ Comex (Compagnie Maritime d’Expertises) ตั้งแต่ปี 1971 และเป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษแล้วที่ Sea-Dweller ได้ถูกจัดเตรียมให้กับนักดำน้ำของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสแห่งนี้ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิศวกรรมใต้น้ำ เทคโนโลยี และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ